
ที่ตั้ง ซุ้มหินชายฝั่ง บ้านฝั่งแดง ตั้งอยู่ในเขตของตำบลหาดทรายรีใกล้กับเขตตำบลปากน้ำ เข้าถึงได้โดยทางรถยนต์ ไปตามถนนสายเพชรเกษม (สาย 4) ไปแยกเข้าตัวเมืองจังหวัดชุมพรโดยสาย 237 เดินทางไปประมาณ 8 กิโลเมตร จะถึงจังหวัดชุมพร แล้วต่อไปตามทางหลวงหมายเลข 4119 ไปทางศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์และทางบ้านหาดทรายรี เป็นระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ถนนจะผ่านชายทะเลบริเวณหาดผาแดง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ซุ้มหินชายฝั่ง บ้านฝั่งแดง หากไปตามถนนสายเดิมต่อไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดชุมพร
ลักษณะของแหล่ง ซุ้มหินชายฝั่ง (Sea arch) มีลักษณะเป็นโขดหินทรายขนาดใหญ่ที่ยื่นจากหน้าผาริมชายหาดไปทะเล และแบ่งชายหาดออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ยื่นออกไปขวางกั้นหาดทรายนั้น มีลักษณะเป็นซุ้มหินขนาดใหญ่ มีสีแดงสะดุดตา เช่นเดียวกับหน้าผาหิน จึงได้ชื่อว่า หาดผาแดง ส่วนล่างของโขดหินเป็น ถ้ำทะเล (Sea cave) ที่เห็นชัดมี 2 ถ้ำ โดยถ้ำที่มีขนาดโตกว่าจะอยู่ไปทางทะเล ส่วนปลายสุดมีโขดหินสีแดงขนาดใหญ่ตั้งอยู่สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นซุ้มหินเช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบันส่วนที่เป็นหลังคาผุพังหายไปหมด จึงเหลือเพียงส่วนที่เป็นเสาค้ำยันทิ้งเอาไว้ ในทางธรณีวิทยาเรียกว่า เสาหินโด่ง (Stack) ซ้ายบนและซ้ายล่างประกอบ


การเกิดซุ้มหินชายฝั่ง ซุ้มหิน (Arch) เป็นลักษณะธรณีสันฐานที่หลงเหลืออยู่หลังจากมีการกัดเซาะผุพังในหิน เกิดได้ทั้งบนบก ชายฝั่งและในทะเล ส่วนมากมีรูปร่างเป็นซุ้มโค้งมีช่องว่างตรงกลาง ถ้าช่องว่างตรงกลางกว้างจนส่วนบนของซุ้มทอดตัวยาว และมีทางน้ำไหลผ่านด้านล่างหรือไม่มีก็ได้ เรียกว่าสะพานหินธรรมชาติ (Natural bridge) ถ้าเป็นช่องเปิดเล็กๆ เหนือพื้นดินขึ้นไปเรียกว่า ซุ้มหน้าต่าง (Window) ซุ้มหินชายฝั่ง เป็นซุ้มหินที่พบเห็นได้มากที่สุดในประเทศไทย เกิดจากการกัดเซาะของคลื่นและลม โดยเฉพาะการขัดสีของทรายที่ถูกพัดพามาด้วย ส่วนมากเกิดขึ้นบริเวณหัวแหลมของชายฝั่งที่เป็นหน้าผาที่ยื่นออกไปในทะเล และพบในหินชั้น (Sedimentary rock) มากกว่าหินชนิดอื่น โดยเฉพาะในหินชั้นมหายุคมีโซโซอิก ที่มีหินหลายชนิด เกิดสลับชั้นกัน บริเวณที่ถูกกัดเซาะง่าย ได้แก่บริเวณที่มีรอยแตก รอยเลื่อนและรอยคดโค้งในชั้นหินมาก เมื่อคลื่นกัดเซาะแหลมหินทั้งสองด้าน ก่อให้เกิดโพรงในชั้นหินทั้งสองด้านและเมื่อโพรงถูกกัดเซาะให้มาบรรจบกัน จึงเกิดเป็นโพรงทะลุขึ้นดังสภาพที่เห็นในปัจจุบัน โพรงจะถูกกัดเซาะทำให้มีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะเช่นนี้ในอนาคต เพดานถ้ำหรือซุ้มหลังคาจะพังลงไป จะทำให้เหลือเป็นเสาหินโด่ง หรือเกาะหินโด่งได้ และในที่สุด เสาหินโด่งก็จะถูกกัดเซาะ สึกกร่อนและผุพังหายไปด้วย
แหล่งที่มา : กรมทรัพยากรธรณ๊
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น